วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบ Thai CoWeb-SocNet

คณะนักวิจัย ครูผู้สอน และนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ และผู้แทนจาก สถาบันรามจิตติ
เมื่อ วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2557  เวลา 08.00-17.00 น. ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมชั้น 6 อาคารสำนักวิทยบริการ โครงการวิจัย Thai3P ได้จัดกิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการสอนการเขียนเรียงความเชิงสร้างสรรค์ผ่านเว็บบล็อก ร่วมกับช่องทางการสื่อสารและเรียนรู้ร่วมกันโดยใช้ Facebook และ Gmail เป็นเครื่องมือ ซึ่งในโครงการวิจัยเรียกรูปแบบนี้ว่า Thai CoWeb-SocNet โดยคณะนักวิจัย ครูผู้สอนภาษาไทย รวมทั้งนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน ตั้งแต่การพัฒนาทักษะการใช้ ICT สำหรับการจัดการเรียนรู้ผ่านเว็บบล็อก การใช้ Facebook การใช้ Gmail  การพัฒนาการแผนการจัดการเรียนรู้ ใบความรู้ ใบงาน และเกณฑ์การประเมินผลงานเรียงความ ทั้งนี้ เพื่อนำไปจัดการเรียนการสอน (จัดการเรียนรู้) เรื่อง การเขียนเรียงความเชิงสร้างสรรค์ วิชาภาษาไทย ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในภาคเรียนที่ 2 การปีการศึกษา 2556 ที่ผ่านมา
    สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีครูผู้สอนภาษาไทยจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งจากสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานการศึกษาเอกชน จากจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เข้าร่วมโครงการ 14 โรงเรียน นอกจากนั้น ยังครูผู้สนใจรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น เข้าร่วมเวทีในวันนี้ 18 คน นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการผู้แทนจากโรงเรียนต่างๆ โรงเรียนละ 1-2 คน รวมทั้งหมด 15 คน พร้อมด้วยคณะนักวิจัย ในกิจกรรมนี้ ยังได้รับเกียรติจากคณะผู้รับผิดชอบโครงการ "ไอซีทีเพื่อปฏิวัติการเรียนรู้ของเด็ก
เยาวชน และสังคมไทย" ซึ่งนำทีมโดย ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ หัวหน้าโครงการและคณะทำงาน จาก สถาบันรามจิตติ รวม 4 ท่าน
      ผลจากการแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กลุ่มละ 7-8 คน (ครูผู้สอน 2 กลุ่ม นักเรียน 2 กลุ่ม)  ในส่วนของครูผู้สอนเห็นว่ารูปแบบการจัดการเรียนการสอน Thai CoWeb-SocNet ทำให้ครูมีเจตคติที่ดีต่อการใช้ ICT เป็นเครื่องมือจัดการเรียนการสอน ครูได้มีโอกาสพัฒนาความรู้และทักษะการใช้ ICT เป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะครูภาษาไทยที่หลายท่านอาจมองว่าไม่เกี่ยวข้องกับ ICT แต่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการใช้ ICT คือ เว็บบล็อกเป็นเครื่องมือ สามารถสร้างเจตคติที่ดี สร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนสนใจและกระตือรือร้นอยากเรียนภาษาไทยเพิ่มขึ้น (นักเรียนมารอหน้าห้องคอมพิวเตอร์
เพื่อเรียนวิชาภาษาไทยก่อนครูมา ซึ่งการสอนแบบเดิม ครูต้องรอนักเรียน) การเขียนเรียงความผ่านเว็บบล็อกสามารถแทรกภาพคลิปที่เป็นสื่อมัลติมีเดียได้ ทำให้น่าสนใจ ครูสามารถเรียนรู้ร่วมกันโดยสร้างเป็นเครือข่ายได้สะดวกขึ้น นักเรียนมีการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อนช่วยเพื่อน แลกเปลี่ยนความคิดเรียนรู้ร่วมกัน ลดช่องว่างระหว่างครูกับนักเรียน นักเรียนมี ความพยายามที่จะเขียนเรียงความให้ดีที่สุด ครูมีการแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และการเขียนเรียงความผ่านเว็บบล็อก ทำให้สามารถพัฒนาทักษะการเขียนเพิ่มขึ้นได้ เป็นต้น
   สำหรับประเด็นต่างๆ ที่ได้จากการแลกเปลี่ยน
เรียนรู้กลุ่มของนักเรียน พบประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ นักเรียนเห็นว่าการใช้เว็บบล็อกสอนภาษาไทย เรื่องการเขียนเรียงความเชิงสร้างสรรค์ ทำให้สนใจ กระตือรือร้น อยากเรียนวิชาภาษาไทยเพิ่มขึ้น ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะและความรู้การใช้ ICT  สำหรับเรื่องราวดีๆ ที่เพื่อนนำเสนอในเว็บบล็อกของครู ทำให้รู้สึกภูมิใจในสิ่งดีๆ ของสามจังหวัดชายแดนใต้เพิ่มขึ้น สามารถนำข้อเสนอแนะของครูที่แนะนำ (Comment) เรียงความของเพื่อน มาปรับปรุงผลงานตนเองได้ แต่อยากเขียนเรียงความเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดอื่นๆ ของไทยด้วย รวมทั้งเขียนบันทึกส่วนตัวได้ด้วย นอกจากการเขียนเรียงความ ที่สำคัญคือ อยากให้ทุกๆ วิชาใช้เว็บบล็อกในการจัดการเรียนรู้ด้วย จะได้ไม่เกิดความเบื่อหน่าย
   ส่วนปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญของทั้งครูและนักเรียนเห็นพ้องกัน ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์โรงเรียนไม่เพียงพอ อินเทอร์เน็ตช้า เวลาเรียน 1 ชั่วโมงไม่เพียงพอ ต้องใช้นอกเวลาเรียน ครูขาดทักษะ ICT ระดับสูง นักเรียนมีงานมาก มีโครงงานทุกวิชา  และข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ อยากให้มีโครงการในลักษณะนี้อีก และอยากให้ทุกวิชานำรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบนี้ไปใช้ ส่วนครูควรจะมีการพัฒนาทักษะ ICT โดยเฉพาะการสร้างสื่อมัลติมีเดีย เช่น การ์ตูน สื่อวิดีทัศน์ง่ายๆ เพื่อรวบรวมเป็นผลงานของครูผู้สอน และเห็นว่าควรจะขยายเครือข่ายครูผู้สอนที่ใช้ ICT เป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนเพิ่มขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อสร้างคุณภาพการศึกษาในพื้นที่
     ผลงานในโครงการวิจัยทั้งหมด และรายงานผลการจัดการเรียนรู้ของครูแต่ละโรงเรียน จะนำเสนอในงานวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในงาน "๘๐ ปี จากฝึกหัดครู สู่คลังปัญญาชายแดนใต้"  ในระหว่างวันที่ 16-20 สิงหาคม 2557 บริเวณบูธของสาขาคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น