เกี่ยวกับโครงการ



เรื่อง รูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมกันผ่านเว็บบล็อกและเครือข่ายสังคมออนไลน์สอนทักษะการเขียน เชิงสร้างสรรค์ สำหรับครูผู้สอนภาษาไทยระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในสามจังหวัดชายแดนใต้


ความเป็นมาและความสำคัญ

       ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology: ICT) โดยเฉพาะเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและการให้บริการในยุคเว็บ 2.0 ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการสามารถแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลหรือสารสนเทศกันได้โดยสะดวกและไม่มีค่าใช้จ่าย เน้นผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง (User-designed Center) จึงทำให้การติดต่อสื่อสารและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่มสนใจเรื่องในเดียวกันทำได้โดยสะดวกและหลากหลายรูปแบบ เรียกว่า กลุ่มเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) เครื่องมือสำคัญในการสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์เรียกว่า สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ได้แก่ เว็บบล็อก วิกิเว็บไซต์ ยูทูบ ทวิตเตอร์ และเว็บไซต์อื่นๆ อีกมากมาย ผนวกกับความก้าวหน้าของเครือข่ายไร้สายความเร็วสูงในปัจจุบันที่รองรับการทำงานของอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Devices) ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ เน็ตบุ๊ค โน้ตบุ๊ค แทปเล็ต หรืออุปกรณ์ที่เรียกอย่างอื่น ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงข้อมูล สารสนเทศ หรือแหล่งเรียนรู้ได้สะดวกในทุกๆ ที่ทุกเวลา

           จากการที่ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตสามารถสร้างกลุ่มเครือข่ายสังคมออนไลน์และเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้สะดวกทุกที่ทุกเวลา ทำให้รูปแบบการเรียนรู้ของสมาชิกในกลุ่มเป็น การเรียนรู้แบบร่วมกัน (Collaboration Learning) ซึ่งเปลี่ยนจากเดิมที่การเรียนรู้เกิดขึ้นระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนในชั้นเรียนปกติ แต่ปัจจุบันเน้นใช้ ICT เป็นฐานในการเรียนรู้ (ICT-based Learning) ได้แก่ การสืบค้น จัดเก็บ เผยแพร่ การใช้งานร่วมกัน โดยองค์ความรู้อยู่ในรูปแบบสื่อมัลติมีเดียนำเสนอผ่านเว็บไซต์ บทบาทของครูเปลี่ยนจากผู้สอนมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ผู้แนะนำ (Coach) หรือที่ปรึกษา (Consultant) มากกว่าเป็นผู้สอนที่มีหน้าที่ให้ความรู้หน้าชั้นเรียนปกติเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนกับผู้เรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งรูปแบบการจัดการเรียนดังกล่าวสามารถส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และมีผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น อีกทั้ง ผู้เรียนได้รับประสบการณ์แปลกใหม่ เกิดทักษะการเรียนรู้โดยใช้ ICT เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ และส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้เป็นอย่างดี

             อย่างไรก็ตาม จากการประเมินผลของสำนักทดสอบมาตรฐานทางการศึกษา (สทศ.) พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในสามจังหวัดชายแดนใต้อยู่ในระดับต่ำที่สุดของประเทศและต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ โดยเฉพาะทักษะการเขียนภาษาไทยเชิงสร้างสรรค์ ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาและส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์ในวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งจะเข้ารับการประเมินโดย สทศ. ทุกๆ ปี คณะผู้วิจัยจัดให้มีโครงการวิจัย เรื่อง รูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมกันผ่านเว็บบล็อกและเครือข่ายสังคมออนไลน์สอนทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์สำหรับครูผู้สอนภาษาไทยระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ครูผู้สอน วิชาภาษาไทยในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และนักเรียนเข้าร่วมโครงการจังหวัดละ 5 โรงเรียน (ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส)

วัตถุประสงค์

1. เพื่อคัดเลือกครูผู้สอนภาษาไทยระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนในเขต 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนเอกชนและโรงเรียนสอนศาสนาเอกชน เข้ารับทุนสนับสนุนร่วมโครงการวิจัยเรื่อง “รูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมกันผ่านเว็บบล็อกและเครือข่ายสังคมออนไลน์สอนทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์สำหรับครูผู้สอนภาษาไทยระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในสามจังหวัดชายแดนใต้” จำนวน 15 คน พร้อมนักเรียนต้นแบบโรงเรียนละ 2 คน รวม 30 คน

2. เพื่อจัดอบรมให้ความรู้และทักษะการสร้างและการใช้เว็บบล็อก รวมทั้งเครื่องมือสืบค้น การใช้สื่อสังคมออนไลน์จัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย เนื้อหาเรื่องทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์ให้แก่ครูผู้สอนภาษาไทยระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2ในสามจังหวัดชายแดนใต้

3. เพื่อให้คำปรึกษาและส่งเสริมให้ผู้สอนที่เข้าร่วมโครงการมีความรู้และทักษะในการจัดการเรียนรู้โดยใช้เว็บบล็อก โดยนำรูปแบบที่ได้ไปประยุกต์ใช้และประเมินผลการเรียนรู้ได้

4. เพื่อจัดเวทีแลกเปลี่ยนผลการเรียนรู้จากประสบการณ์การจัดการเรียนรู้จากประสบการณ์การใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมกันผ่านเว็บบล็อกและเครือข่ายสังคมออนไลน์สอนทักษะการเขียน
เชิงสร้างสรรค์สำหรับครูผู้สอนภาษาไทยระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในสามจังหวัดชายแดนใต้

5. เพื่อส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมโครงการทำวิจัยชั้นเรียนโดยใช้ ICT เป็นฐานในรายวิชาภาษาไทย ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และเป็นแนวทางในการเสนอผลงานเพื่อตำแหน่งเลื่อนวิทยฐานะวิชาชีพครูให้สูงขึ้น

แหล่งงบประมาณ

    โครงการวิจัยนี้ได้รับทุนวิจัยจาก โครงการ “ไอซีทีเพื่อปฏิวัติการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน และสังคมไทย”  สนับสนุนทุนวิจัยโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมีหัวหน้าโครงการและการประสานงานดังนี้
 
  • ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ (ข้อเสนอโครงการวิจัย "ไอซีที")
    สำนักประสานงานวิจัย ด้านเครือข่ายเด็ก เยาวชน และการศึกษา สกว.
    เลขที่ 59/5 ซ.พหลโยธิน 4 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
  • ดร.นันธิดา จันทรางศุ  สำนักประสานงานวิจัย ด้านเครือข่ายเด็ก เยาวชน และการศึกษา สกว.
    โทรศัพท์ 086-8822029, 02-279-9546-7 โทรสาร 0-2278-2954
           อีเมล์ : ramajitti@yahoo.com
 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่:





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น